17 กุมภาพันธ์, 2554

การพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูปวิชาภาษาไทย เรื่องการอ่านตีความ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4

บทนำ
    ปัญหาสำคัญในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยคือ การขาดแคลนสื่อประกอบการเรียนการสอนและการจัดกิจกรรมไม่หลากหลาย การสอนของครูอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักเรียนไม่ชอบเรียนวิชาภาษาไทย เนื่องจากครูผู้สอนส่วนหนึ่งขาดความเข้าใจในการสอน เน้นการสอนแบบท่องจำทำให้นักเรียนขาดทักษะในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และตีความเรื่องราวที่ได้จากการอ่าน การฟังการดู ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของหลักสูตร ครูผู้สอนไม่ใช้สื่อประกอบการเรียนการสอนที่หลากหลายเพื่อดึงดูดความสนใจและเสริมแรงในการเรียนรู้ หากครูผู้สอนจัดกิจกรรรมที่หลากหลายโดยใช้กิจกรรมที่สื่อความหมายได้จริงในชีวิตประจำวันและเปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิด ตีความ วิเคราะห์ วิจารณ์และสรุปความคิดจากบทเรียน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน

ความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า
1. เพื่อพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูปวิชาภาษาไทย เรื่องการอ่านตีความ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่4   
   โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ นนทบุรี
2. เพื่อหาประสิทธิภาพของบทเรียนสำเร็จรูปที่สร้างขึ้นตามเกณฑ์ประสิทธิภาพ 80 / 80
3. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก่อนและหลังการเรียน
   ด้วยบทเรียนสำเร็จรูปวิชาภาษาไทยเรื่องการอ่านตีความ

สมมติฐานในการศึกษาค้นคว้า
นักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนสำเร็จรูปวิชาภาษาไทย เรื่องการอ่านตีความ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนการเรียน

ขอบเขตของการศึกษาค้นคว้า
ประชากร
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2
ปีการศึกษา 2550 โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ นนทบุรี จำนวน 4 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 150 คน

กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ เป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ นนทบุรี จำนวน 1 ห้องเรียนมีนักเรียน 36 คน ซึ่งได้จากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling)

เนื้อหาที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า
เนื้อหาที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้เป็นเนื้อหาวิชาภาษาไทยในสาระการเรียนรู้วรรณคดีและวรรณกรรมตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 ซึ่งมีขอบเขตของเนื้อหาดังนี้
หน่วยที่ 1 อิเหนา
ชุดที่ 1 อ่านตีความสาระสำคัญ แนวคิดและค่านิยม
ชุดที่ 2 อ่านตีความสำนวนโวหารภาพพจน์
ชุดที่ 3 อ่านตีความคุณค่าด้านวรรณศิลป์และสังคม
หน่วยที่ 2 นิราศนรินทร์
ชุดที่ 4 อ่านตีความสาระสำคัญ แนวคิดและค่านิยม
ชุดที่ 5 อ่านตีความสำนวนโวหารภาพพจน์
ชุดที่ 6 อ่านตีความคุณค่าด้านวรรณศิลป์และสังคม
หน่วยที่ 3 กาพย์เห่เรือ
ชุดที่ 7 อ่านตีความสาระสำคัญ แนวคิดและค่านิยม
ชุดที่ 8 อ่านตีความสำนวนโวหารภาพพจน์
ชุดที่ 9 อ่านตีความคุณค่าด้านวรรณศิลป์และสังคม

ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า
การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ ทำการทดลองในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 ใช้ระยะเวลาในการทดลอง 18 คาบเรียน สัปดาห์ละ 2 คาบเรียน คาบเรียนละ 50 นาที

เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า มีดังนี้
1. บทเรียนสำเร็จรูปวิชาภาษาไทยเรื่องการอ่านตีความ
2. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน บทเรียนสำเร็จรูปวิชาภาษาไทย เรื่องการอ่านตีความ

วิธีดำเนินการในการศึกษาค้นคว้า
ขั้นตอนในการสร้างบทเรียนสำเร็จรูป
ผู้วิจัยสร้างบทเรียนสำเร็จรูป โดยวิธีการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ช่วงชั้นที่ 4 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เพื่อใช้ในการสอนกลุ่มทดลองมีขั้นตอนการสร้างบทเรียนสำเร็จรูปวิชาภาษาไทยเรื่องการอ่านตีความ ดังนี้
1. ขั้นเตรียม
1.1ศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช2544 กระทรวงศึกษาธิการสาระหลักสูตร กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ในสาระที่1มาตรฐานที่ ท1.1.1ได้กำหนดให้นักเรียนมีความสามารถในการอ่านได้อย่างมีวิจารณญาณ ตีความ แปลความ และขยายความเรื่องที่อ่านได้อย่างลึกซึ้ง วิจารณ์ วิเคราะห์ ประเมินค่าเรื่องที่อ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพและสาระที่5วรรณคดีและวรรณกรรม มาตรฐาน ท5.1เข้าใจและแสดงความคิดเห็น วิจารณ์วรรณคดีและวรรณกรรมไทยอย่างเห็นคุณค่าและนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง
1.2ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับบทเรียนสำเร็จรูป และการหาประสิทธิภาพของบทเรียนสำเร็จรูปจากทฤษฎี เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการสร้างบทเรียนสำเร็จรูปวิชาภาษาไทย เรื่องการอ่านตีความ
2. ขั้นสร้าง
2.1ผู้วิจัยสร้างบทเรียนสำเร็จรูป โดยสร้างเป็นบทเรียนสำเร็จรูปชนิดเส้นตรง ใช้การตอบสนองโดยการเลือกคำตอบ ก ข ค ง โดยศึกษาด้วยกรอบเริ่มต้น กรอบฝึกหัด ซึ่งทั้งสองกรอบนี้เรียกว่า กรอบสอน แต่ละกรอบเสนอเนื้อหาเริ่มจากง่ายไปหายาก จนไปถึงกรอบสุดท้ายเรียกว่ากรอบสอบ
2.2กำหนดกิจกรรมการเรียนที่ใช้ในกรอบการเรียนรู้แต่ละกรอบโดยพิจารณาถึงประสิทธิภาพที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังให้สอดคล้องกับพื้นฐานความรู้ประสบการณ์ และความสนใจของนักเรียน
2.3ดำเนินการสร้างบทเรียนสำเร็จรูปจำนวน 9 ชุด ดังนี้
หน่วยที่ 1 อิเหนา
ชุดที่ 1 อ่านตีความสาระสำคัญ แนวคิดและค่านิยม (2 คาบเรียน)
ชุดที่ 2 อ่านตีความสำนวนโวหารภาพพจน์ (2 คาบเรียน)
ชุดที่ 3 อ่านตีความคุณค่าด้านวรรณศิลป์และสังคม (2 คาบเรียน)
หน่วยที่ 2 นิราศนรินทร์
ชุดที่ 4 อ่านตีความสาระสำคัญ แนวคิดและค่านิยม (2 คาบเรียน)
ชุดที่ 5 อ่านตีความสำนวนโวหารภาพพจน์ (1 คาบเรียน)
ชุดที่ 6 อ่านตีความคุณค่าด้านวรรณศิลป์และสังคม (2 คาบเรียน)
หน่วยที่ 3 กาพย์เห่เรือ
ชุดที่ 7 อ่านตีความสาระสำคัญ แนวคิดและค่านิยม (2 คาบเรียน)
ชุดที่ 8 อ่านตีความสำนวนโวหารภาพพจน์ (2 คาบเรียน)
ชุดที่ 9 อ่านตีความคุณค่าด้านวรรณศิลป์และสังคม (2 คาบเรียน)
แต่ละชุดมีความเหมาะกับเนื้อหาดังนี้
2.3.1 กำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ให้สอดคล้องกับขั้นตอนต่างๆ ในหลักการ
สอนวิชาภาษาไทย
2.3.2 กำหนดกิจกรรมให้สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่กำหนด
2.3.3 สร้างบทเรียนสำเร็จรูปให้สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ และครอบคลุมเนื้อหาในแต่ละกรอบของบทเรียนสำเร็จรูป
2.4 นำบทเรียนสำเร็จรูปที่สร้างขึ้น ไปให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 ท่าน ตรวจและประเมินบทเรียน เพื่อปรับปรุงแก้ไข และผู้วิจัยนำมาดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
2.4.1 การทดลองครั้งที่ 1 โดยนำบทเรียนสำเร็จรูปไปทดลองกับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ นนทบุรี จำนวน 3 คน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงแก้ไข
2.4.2 การทดลองครั้งที่ 2 หลังจากปรับปรุงแก้ไขแล้วนำบทเรียนสำเร็จรูปไปใช้กับนักเรียน 10 คน เพื่อหาข้อบกพร่องและปรับปรุงแก้ไข
2.4.3 จากนั้นนำบทเรียนสำเร็จรูปที่ปรับปรุงแก้ไขแล้วไปใช้กับกลุ่มตัวอย่าง36 คน และหาประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80

การสร้างแบบประเมินคุณภาพของบทเรียนสำเร็จรูป
ผู้ศึกษาค้นคว้าได้ดำเนินการสร้างแบบประเมินคุณภาพของบทเรียนสำเร็จรูป โดยมีการประเมิน 2 ด้าน คือ ด้านเนื้อหา และด้านสื่อ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
1. ศึกษาเอกสารเกี่ยวกับวิธีการสร้างแบบประเมินเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
2. สร้างแบบประเมิน 2 ชุด คือ แบบประเมินสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา และแบบประเมิน
   สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ โดยใช้แบบประเมินที่มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale)
5 ระดับ คือ 5 , 4 , 3 , 2 , 1
3. นำแบบประเมินที่สร้างขึ้นไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาตรวจสอบเพื่อปรับปรุงแก้ไข
4. นำแบบประเมินที่ปรับปรุงแล้วไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา จำนวน 3 ท่าน และผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ จำนวน 3 
    ท่าน ประเมินคุณภาพของบทเรียนสำเร็จรูป
5. นำผลจากการประเมินมาพิจารณาหาค่าเฉลี่ยเพื่อใช้เป็นเกณฑ์การประเมินคุณภาพของ
   บทเรียนสำเร็จรูป ได้ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.66

การสร้างและหาคุณภาพแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ผู้วิจัยได้ค้นคว้าและดำเนินการสร้างตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.ศึกษาวิธีสร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ศึกษาเนื้อหาจากหนังสือเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช2544 (ช่วงชั้นที่ 4)
2.สร้างแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบปรนัย 4 ตัวเลือก โดยสร้างให้สอดคล้อง
และครอบคลุมเนื้อหาในแต่ละหน่วย จำนวน 80 ข้อ แล้ว คัดเลือกข้อสอบที่มีคุณภาพจำนวน 45 ข้อ
3.นำแบบทดสอบที่สร้างขึ้น ไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาตรวจสอบ จากนั้นนำมาปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำ
4.ตรวจสอบคุณภาพของแบบทดสอบด้านความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา โดยใช้ดัชนีความสอดคล้องจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน จากนั้นนำผลการพิจารณาความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ แล้วนำไปหาค่าดัชนีความสอดคล้อง IOC โดยค่าดัชนีความสอดคล้องมีค่าเท่ากับ 1
5.นำแบบทดสอบที่สร้างขึ้นไปใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา จำนวน 3 ท่าน ตรวจสอบลักษณะเนื้อหาสาระ ความถูกต้องของเนื้อหา ความสอดคล้องระหว่างเนื้อหาและผลการเรียนรู้ที่คาดหวังแล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ และคัดเลือกข้อที่มีความสอดคล้องเท่ากับ 1
6.นำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ปรับปรุงแก้ไขแล้วไปทดลองกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ นนทบุรี จำนวน 100 คน
7.นำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่นักเรียนทำมาให้คะแนนนำคะแนนที่ได้มาวิเคราะห์หาความยากง่าย ( p)ที่ 0.23 – 0.75 และค่าอำนาจจำแนก ( r) เท่ากับ 0.22
8.นำผลการทดสอบที่ได้เลือกไว้จำนวน 45 ข้อ ไปคำนวณหาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบโดยใช้สูตร KR – 20 ของคูเดอร์ริชาร์ดสัน (Kuder – Richardson 20) มีค่าเท่ากับ 0.95

การวิเคราะห์ข้อมูล
โดยการหาประสิทธิภาพของบทเรียนสำเร็จรูป E1/E2 ตามเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้คือ 80/80ซึ่งได้มาจาก
1. การหาประสิทธิภาพของบทเรียนสำเร็จรูป โดยการหาค่าเฉลี่ย
2. คุณภาพของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย เรื่องการอ่านตีความ
   สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ นนทบุรี โดยคำนวณจากสูตร KR- 
   20คูเดอร์ริชาร์ดสัน
3. เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย เรื่องการอ่านตีความ ก่อนและหลัง
   เรียนบทเรียนสำเร็จรูป โดยใช้ t-test แบบ Dependent Sample
สรุปผลการวิจัย

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลสรุปได้ดังนี้
1. การพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูปวิชาภาษาไทย เรื่องการอ่านตีความ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ นนทบุรี ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 พบว่ามีประสิทธิภาพเป็น 92.00/92.40
2. นักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่เรียนโดยใช้บทเรียนสำเร็จรูปวิชาภาษาไทย เรื่องการอ่านตีความมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ .01

อภิปรายผล
จากการศึกษาการพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูปวิชาภาษาไทย เรื่องการอ่านตีความ สำหรับนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ นนทบุรี ผลการวิจัยมีดังนี้
1. จากการพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูปวิชาภาษาไทย เรื่องการอ่านตีความ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 พบว่า ประสิทธิภาพของบทเรียนทั้ง 9 ชุดที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จากการประเมินผลระหว่างเรียนและหลังเรียน (E1/E2) กับกลุ่มตัวอย่าง มีประสิทธิภาพเป็น 92.00/92.40 จะเห็นได้ว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยของ รัตนาวดีคำชมภู (2549:72-73) ได้ทำการวิจัยเรื่องการพัฒนาชุดการเรียนด้วยตนเอง วิชาภาษาไทย เรื่องชนิดของคำ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1ผลการศึกษาพบว่า ชุดการเรียนทั้ง 7 ชุด มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้คือ 87.91/88.35 และสอดคล้องกับผลการวิจัยของ นวลสกุล พวงบุษบา(2545:บทคัดย่อ) การพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูปคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย เรื่องการจำแนกคำในภาษาไทยวิชาภาษาไทย ซึ่งพบว่า บทเรียนคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย เรื่องการจำแนกคำในภาษาไทย วิชาภาษาไทยมีประสิทธิภาพที่ 91.22/88.33 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เป็นเพราะบทเรียนสำเร็จรูป ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลายและผ่านการฝึกฝนทักษะทางภาษา โดยครูมีบทบาทในการจัดสื่อการเรียน ใช้สื่อประกอบกิจกรรมการเรียนการสอนที่เร้าความสนใจ เพิ่มแรงจูงใจในการเรียน เป็นสื่อที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามความสามารถและตามศักยภาพของผู้เรียนเป็นรายบุคคล เป็นการเรียนที่ตอบสนองต่อความแตกต่างระหว่างบุคคล นักเรียนสามารถวัดผลและประเมินผลการเรียนได้ด้วยตนเอง ช่วยให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในบทเรียนได้มากขึ้น หากมีการพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูปให้เป็นบทเรียนคอมพิวเตอร์มัลติมีเดีย หรือบทเรียนเครือข่ายที่สามารถเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจบนเครือข่ายทางอินเทอร์เน็ตน่าจะช่วยให้การพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูปเป็นประโยชน์แก่วงการการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
2.นักเรียนที่ได้เรียนโดยใช้บทเรียนสำเร็จรูปวิชาภาษาไทย เรื่องการอ่านตีความมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ และสอดคล้องกับงานวิจัยของนิมิตร มั่นเถา (2539:33-36) ได้สร้างบทเรียนสำเร็จรูปวิชาภาษาไทย เรื่องคำวิเศษณ์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีระดับผลการเรียนต่ำกว่า 2 จากการวิจัยพบว่า หลังจากที่เรียนด้วยบทเรียนสำเร็จรูป เรื่องคำวิเศษณ์ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หลังเรียนสูงกว่าก่อนการเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และสอดคล้องกับงานวิจัยของอัมพา อรุณพราหมณ์ (2539:76) ได้ศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยและความรับผิดชอบของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนโดยใช้ชุดการเรียนด้วยตนเองกับการสอนตามคู่มือครู ผลการเรียนพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ทั้งนี้เป็นเพราะว่าบทเรียนสำเร็จรูปวิชาภาษาไทย เรื่องการอ่านตีความ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้รับการพัฒนาอย่างมีระบบตามลำดับขั้นตอนที่ถูกต้อง มีการทดลองหาข้อบกพร่องและทำการปรับปรุงแก้ไข ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างสมบูรณ์ จากการสังเกตพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนด้วยบทเรียนสำเร็จรูปพบว่า นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียน มีความตั้งใจในการทำบทเรียน มีการศึกษาและปรึกษาเนื้อหาในบทเรียนระหว่างเพื่อนในกลุ่มเดียวกัน โดยที่นักเรียนสามารถเรียนรู้ จากบทเรียนทีละชุดเรียงตามลำดับจากง่ายไปหายาก และหากเกิดความผิดพลาดในการทำบทเรียน นักเรียนก็สามารถย้อนกลับไปเรียนได้อีกจนกว่าจะเข้าใจบทเรียนอย่างแท้จริง นักเรียนจึงให้ความร่วมมือในการทำบทเรียนสำเร็จรูปทั้ง 9 ชุดด้วยความตั้งใจ ส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย เรื่องการอ่านตีความสูงขึ้น

ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะทั่วไป
1. ส่งเสริมให้มีการนำบทเรียนสำเร็จรูปไปใช้เพื่อทบทวนการเรียนการสอน เตรียมความพร้อมก่อนการเรียน และค้นคว้าหาความรู้จากการเรียนด้วยตนเอง
2. ภาษาที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ในบทเรียนต้องกระชับ เข้าใจง่าย อ่านแล้วสามารถปฏิบัติตามได้

ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
1. ควรมีการพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูปวิชาภาษาไทย ในเนื้อหาอื่นๆ ของสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
2. ควรมีการพัฒนาบทเรียนสำเร็จรูปให้สามารถใช้เป็นบทเรียนเครือข่าย เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต

 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น